การออกกำลังกาย

ก้าวแรกของการเข้าสู่วงการการวิ่งมาราธอน

การวิ่งมาราธอนเป็นการออกกำลังกายที่หลายคนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะตั้งแต่เริ่มมีโครงการก้าวคนละก้าวเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศไทย โดยความนิยมในการวิ่งนั้นเห็นได้จากการแชร์รูปภาพการเข้าร่วมโครงการการวิ่งต่าง ๆ พร้อมเหรียญรางวัลมากมายในโลกโซเชียล เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ หรือไอจี แม้กระทั่งคนใกล้ตัวของเราที่ไม่ได้เจอกันแค่ไม่กี่เดือน เห็นอีกทีก็กลายเป็นนักวิ่งมาราธอนตัวยงไปแล้ว จนบางครั้งเราเองก็มีความคิดอยากจะลองวิ่งดูบ้าง แต่พอรู้ว่าระยะทางในการวิ่งมาราธอนนั้นยาวไกลถึง 42.195 กิโลเมตรก็ต้องถอดใจเสียแล้ว เพราะแค่ 5 กิโลเมตรก็ยังยากเลย แต่แท้จริงแล้วรู้หรือไม่ว่า นักวิ่งมาราธอนเหล่านั้นต่างก็เริ่มจากการฝึกวิ่งในระยะทางสั้น ๆ ก่อนแล้วค่อย ๆ พัฒนาไปสู่การวิ่งในระยะทางที่ไกลขึ้นจนก้าวเข้าสู่การวิ่งมาราธอนในที่สุดเช่นเดียวกัน

ทำความเข้าใจประเภทของการวิ่งก่อนการพัฒนาตัวเองไปสู่การวิ่งมาราธอน

ปัจจุบันมีงานวิ่งมากมายให้เลือกเข้าร่วมซึ่งโดยปกติสามารถแบ่งเป็น 4 ประเภทหลักคือ

1.ฟันรันระยะทาง 3-5 กิโลเมตร
2.มินิมาราธอนระยะทาง 10.5 กิโลเมตร
3.ฮาล์ฟมาราธอนระยะทาง 21.10 กิโลเมตร
4.ฟูลมาราธอนระยะทาง 42.195 กิโลเมตร

ทั้งนี้นักวิ่งมือใหม่ควรเริ่มต้นจากการฝึกวิ่งและลงวิ่งประเภทฟันรันก่อนเพื่อให้ร่างกายคุ้นชินกับการวิ่ง บรรยากาศในงาน และไม่เป็นการหักโหมร่างกายจนก่อให้เกิดผลเสียกับร่างกายมากจนเกินไป นอกจากนี้ยังทำให้เรามีกำลังใจในการวิ่งเมื่อเข้าสู่เส้นชัยได้ง่ายขึ้น เทียบกับการลงวิ่งในงานใหญ่แล้วต้องทรมานร่างกายตัวเองเพื่อการเข้าสู่เส้นชัยทั้งยังส่งผลเสียต่อร่างกายตามมาอีกด้วย

การเตรียมตัวก่อนการเข้าร่วมงานวิ่งในแต่ละครั้ง

  1. ต้องซ้อมวิ่งอย่างสม่ำเสมอตามระยะทางที่ลงวิ่งเป็นเวลาอย่างน้อย 1 – 2 เดือน เช่น หากงานแรกเป็น ฟันรัน 5 กิโลเมตร เราควรฝึกซ้อมการวิ่งอย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 วัน เป็นระยะทาง 5 กิโลเมตรในแต่ละครั้ง หากไม่สามารถทำได้ควรลดระยะทางในการวิ่งเป็น 2 กิโลเมตร หรือวิ่งตามที่เราไหวแต่อาศัยความสม่ำเสมอแล้วค่อย ๆ เพิ่มระยะทางขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงเป้าหมาย สำหรับมือใหม่ที่ไม่เคยแม้แต่จะวิ่งติดต่อกันเป็นระยะ 2 กิโลเมตรมาก่อน แนะนำให้เริ่มจากการวิ่งสลับกับการเดินแล้วค่อย ๆ ปรับเป็นการวิ่งตลอดเส้นทางด้วยความเร็วสม่ำเสมอ โดยที่อัตราการเต้นของหัวใจไม่ควรเกิน 170 ครั้งต่อนาทีเพื่อลดอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับร่างกายในขณะฝึกซ้อมและการวิ่งจริง
  2. ควรพักผ่อนให้เพียงพอในคืนวันก่อนฝึกซ้อมและการวิ่งจริงในแต่ละครั้ง เพื่อให้ร่างกายมีความพร้อมก่อนการวิ่งและทำให้เราสามารถเต็มร้อยกับการวิ่งได้โดยไม่มีปัจจัยเรื่องการพักผ่อนไม่เพียงพอมารบกวน
  3. หากป่วยหรือบาดเจ็บก่อนการวิ่ง ไม่ควรฝืนร่างกาย ควรตัดใจไม่เข้าร่วมการวิ่งและรักษาฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงก่อน เนื่องจากปัจจุบันนี้มีงานวิ่งให้เราเข้าร่วมเยอะแยะมากมาย ถ้าเราพลาดงานนี้งานหน้าก็ยังมีให้เข้าร่วม แต่หากเราฝืนร่างกายไปลงวิ่งแล้วเกิดป่วยหนักหรือบาดเจ็บรุนแรงขึ้นมา เราอาจจะพลาดโอกาสในการวิ่งไปอีกนานนับแรมปี กว่าร่างกายจะกลับมาวิ่งได้อีกครั้ง หรืออาจจะโชคร้ายถึงขั้นไม่สามารถกลับมาวิ่งได้ตลอดชีวิตอีกก็เป็นได้

เมื่อเราค่อย ๆ เพิ่มระดับของการวิ่งตามระยะทาง อาศัยการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนอย่างเพียงพอ และปล่อยให้ความสามารถในการวิ่งของเราค่อย ๆ เพิ่มขึ้นไปตามระดับความสามารถของร่างกาย เมื่อนั้นเราจะสามารถเข้าร่วมการวิ่งในระดับที่สูงขึ้นได้เรื่อย ๆ จนสามารถเข้าสู่การวิ่งฟูลมาราธอนอย่างเต็มตัว และด้วยขีดความสามารถของร่างกายมนุษย์ที่มีโอกาสเข้าถึงฟูลมาราธอนได้ทุกคนในกรณีที่ไม่มีโรคประจำตัว ดังนั้นเราเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่สามารถวิ่งมาราธอนได้ถ้าขยันฝึกซ้อม และหากวันนั้นมาถึงเราจะภาคภูมิใจที่สามารถเอาชนะหัวใจตัวเองและมีเหรียญที่ระลึกเก็บไว้เป็นรางวัลแห่งชีวิตกับเราไปตราบนานเท่านาน